วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปลานิล

   ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง  (อยู่ในตระกูล  Cichlidae)  มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา  พบทั่วไปตามหนอง  บึง  และทะเลสาบ  ในประเทศซูดาน  อูแกนดา  แทนแกนยิกา  เนื่องจากปลาชนิดนี้เลี้ยงง่ายและเติบโตเร็ว  จึงมีผู้สนใจเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

                ปลานิลมีรูปร่างลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ  ลักษณะพิเศษของปลานิลนั้น  มีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน  มีเกล็ด  4  แถวตรงบริเวณแก้ม  และจะมีลายพาดขวางลำตัวประมาณ  9-10  แถบ  มีนิสัยชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามแม่น้ำ  ลำคลอง  หนอง  บึง  และทะเลสาบ  เป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย  มีความอดทน  และสามารถปรับปรุงตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ง่าย  เหมาะสมที่จะนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี

 ลักษณะเพศ  ตามปกติแล้วรูปร่างลักษณะภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมีย  จะคล้ายคลึงกันมาก  แต่จะสังเกตได้โดยการดูอวัยวะเพศที่บริเวณใกล้ช่องทวาร  ตัวผุ้จะมีอวัยวะเพศลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา    ส่วนตัวเมียจะมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างใหญ่และกลม  ปลาที่จะดูลักษณะเพศได้ชัดเจนนั้น  ต้องมีขนาดยาวตั้งแต่  10  เซนติเมตรขึ้นไป  ในกรณีที่ปลามีขนาดโตเต็มที่แล้วนั้น  อาจจะสังเกตได้ด้วยการดูสีที่ลำตัว  เพราะปลาตัวผู้จะมีสีเข้มตรงบริเวณใต้คางและตามลำตัว  ต่างกับปลาตัวเมีย  และยิ่งใกล้จะถึงฤดูผสมพันธุ์  สีก็จะยิ่งมีความเข้มยิ่งขึ้น
               พ่อแม่ปลานิลที่มีขนาดยาว  10  เซนติเมตร  และมีอายุประมาณ  4  เดือนขึ้นไป  เป็นปลาโตได้ขนาดพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้  หากสภาพสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแล้ว  ปลาตัวผู้ก็จะแยกตัวออกจากฝูงแล้วเริ่มสร้างรังโดยเลือกเอาบริเวณชานบ่อตื้นๆ  ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ  30-50  เซนติเมตร  วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลง  ในระดับตั้งฉากกับพื้นดินแล้วใช้ปากกับการเคลื่อนไหวของลำตัว  เขี่ยดินตะกอนออก  โดยวิธีอมเอาดินตะกอน  และเศษสิ่งของต่างๆ ในบริเวณนั้นไปทิ้งนอกรัง  จะทำอยู่เช่นนี้เรื่อยไป  จนกว่าจนได้รังซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมที่มีขนาดตามความต้องการ  หากมีปลาอื่นอยู่ในแถวนั้นด้วย  ปลานิลตัวผู้ก็จะพยายามขับไล่ให้ออกไปนอกบริเวณ  ตัวมันเองจะคอยวนเวียนอยู่ในรัศมี  2-3  เมตร  รอบๆ รัง  และจะแผ่ครีบหลังอ้าปากกว้างอยู่ตลอดเวลา  อาการเช่นนี้เป็นการเชิญชวนให้ตัวเมียซึ่งว่ายเข้ามาใกล้  ให้เจ้ามายังรังที่ได้สร้างไว้  ปลาตัวเมียบางตัวกว่าจะพบรังที่ถูกใจได้จะฝ่านรังที่ปลาตัวผู้เตรียมไว้ถึง  3  รัง
               เมื่อต่างได้คู่แล้ว  ก็จับคู่เคียงกันไป  และจะให้หางดีดผัดผันแว้งกัดกันเบาๆ  หลังจากเคล้าเคียงในลักษณะเช่นนี้ครู่หนึ่งแล้ว  ปลาก็จะผสมพันธุ์โดยตัวผู้จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมียจะวางไข่ออกมาครั้งละ  10  หรือ  20  ฟอง  ในขณะเดียวกัน  ปลาตัวผู้ก็จะว่ายคลอคู่เคียงกันไป  พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่นั้น  ทำอยู่เช่นนี้  จนกว่าการผสมพันธุ์จะแล้วเสร็จ  ไขที่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วปลาตัวเมียจะเก็บไว้ฟัก  โดยวิธีอมไข่เข้าไปในปาก  แล้วว่ายออกจากรังไปยังบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า  ส่วนตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเวียนว่ายไปเคล้าเคลียกับตัวเมียอื่นๆ ต่อไปอีก
               แม่ปลานิลจะอมไข่ไว้ในปากปลาเป็นเวลา  4-5  วัน  ไข่ก็จะเริ่มฟักออกเป็นตัว  ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ  จะอาศัยอาหารจากถุงอาหารจนกระทั่งถุงอาหารธรรมชาติของลูกปลายุบหายไป  หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้วประมาณ  3-4  วัน  แม่ปลาก็จะคายลูกปลาให้ว่ายออกมาจากปากลูกปลาในระยะนี้  สามารถกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำเล็กๆ  ซึ่งอยู่ในน้ำ  โดยจะว่ายวนเวียนอยู่ที่บริเวณหัวของแม่ปลา  และจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปาก  เมื่อต้องการหลบหลีกอันตราย  โดยลูกปลาจะเข้าทางปากหรือทางช่องเหงือก  หลังจากลูกปลามีอายุได้  1  สัปดาห์  จึงจะเลิกหลบเข้าไปซ่อนในช่องปากของแม่  แต่แม่ปลาก็ยังต้องคอยระวังศัตรูให้โดยการว่ายวนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่ลูกปลาหาอาหารกินอยู่  ลูกปลานิลจะรู้จักวิธีหาอาหารกินได้เองเมื่ออายุได้  3 สัปดาห์  และมักจะว่ายขึ้นกินอาหารรวมกันเป็นฝูงๆ
               การแพร่ขยายพันธุ์ของปลานิลนั้น  ปริมาณไข่ที่แม่ปลาวางแต่และครั้งจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลาและฤดูกาล  โดยประมาณแล้วปลานิลตัวเมียจะวางไข่ได้ครั้งละ  50-600  ฟอง  แม่ปลาที่เริ่มวางไข่ครั้งแรกจะให้ลูกปลาจำนวนน้อย  ปริมาณไข่ของแม่ปลาจะเพิ่มมากตามขนาดของแม่ปลาที่เจริญวัยขึ้น  แม่ปลาตัวหนึ่งสามารถว่างไข่ได้ทุกระยะ  2-3  เดือนต่อครั้ง  ถ้าหากบ่อเลี้ยงปลามีสภาพดีและมีการให้อาหารพอเพียง  ในเวลา  1  ปี  แม่ปลาตัวหนึ่งจะสามารถแพร่พันธุ์ได้ประมาณ  3-4  ครั้ง

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ปลาทอง

ปลาทอง บางครั้งนิยมเรียกว่า ปลาเงินปลาทอง (อังกฤษ: Goldfish) เป็นปลาน้ำจืด อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าCarassius auratus เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยดั้งเดิมถือเป็นปลาที่ถูกนำมาบริโภคกันเป็นอาหาร ต่อมาได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์มาไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี จนกลายเป็นปลาสวยงามหลากหลายสายพันธุ์ในปัจจุบัน

โดยปลาทองเชื่อว่า เป็นปลาสวยงามชนิดแรกที่มนุษย์เลี้ยง จากหลักฐานที่ปรากฏไม่ต่ำกว่า 2,000 ปีมาแล้ว เป็นรูปสลักปลาทองหลากหลายสีว่ายรวมกันอยู่ในบ่อที่ประเทศจีน ถือเป็นประเทศแรกที่เลี้ยงปลาทอง แต่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์ปลาทองให้มีความสวยงามและหลากหลายมาจนปัจจุบัน โดยเมืองแรกที่ทำการเลี้ยง คือ ซะไก ในจังหวัดโอซะกะ ในราวปี ค.ศ. 1502-ค.ศ. 1503 แต่กลายมาเป็นที่นิยมเมื่อเวลาต่อมาอีกราว 100 ปี ถึงขนาดมีร้านขายปลาทองเปิดกันเป็นจำนวนมาก
ปลาทองมีรูปร่างอ้วน ป้อม มีเกล็ดแบบบางเรียบ ครีบอกกลมแบน ครีบหางเป็นรูปพัด เป็นปลากินพืช และแมลงน้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เป็นปลาที่ตะกละสามารถกินอาหารได้ตลอดทั้งวัน ตัวผู้เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะมีตุ่มสิวขึ้นตามครีบอกและใบหน้า ปลาตัวท้องช่องท้องจะอูมเป่งออก วางไข่ตามพืชน้ำ ไข่ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 วัน
ปลาทองมีสีหลากหลายตั้งแต่สีแดง, สีทอง, สีส้ม, สีเทา, สีดำและสีขาว แม้กระทั่งสารพัดสีในตัวเดียวกัน ในธรรมชาติชอบอาศัยตามหนองน้ำและลำคลองที่ติดกับแม่น้ำ อาจมีอายุได้ถึง 20-30 ปี ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ต่อมาถูกนำไปเลี้ยงในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 17และถูกนำไปเผยแพร่ในอเมริกา ในศตวรรษที่ 19 สำหรับในประเทศไทย เชื่อว่าปลาทองเข้าในสมัยอยุธยาตอนกลางเพื่อเป็นของบรรณาการในราชสำนักราว ๆ ค.ศ. 1370-ค.ศ. 1489
ในปัจจุบันมักเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และปลาทองที่เลี้ยงไว้ดูเล่นจะมีช่วงชีวิต ประมาณ 7-8 ปี พบจำนวนน้อยมากที่มีอายุถึง 20 ปี ปัจจุบันประเทศจีน,ฮ่องกง, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นศูนย์กลางการส่งออกปลาทองที่ใหญ่ที่สุด